วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ข้อสอบวิชา การจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต การบริหารการศึกษา
ปีการศึกษา 2/2551
ผศ. สมคิด ดวงจักร์ ผู้ออกข้อสอบ

........................................................................

1. ท่านสามารถประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในองค์กรของท่านได้อย่างไร บอกกรอบความคิด ขั้นตอนผลกระทบให้เห็นกระบวนการคิดของท่านทั้งระบบ
ตอบ
องค์กรข้าพเจ้าประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในการทำงานจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการสอน จัดทำเว็บไซด์ระบบข้อมูลต่างๆ เช่น สถานที่ตั้ง ข้อมูลบุคลากรของโรงเรียน และรายละเอียดอื่นๆ การรับ- ส่งเอกสารต่างๆคำสั่งต่างๆที่มาจากต้นสังกัดสามารถเปิดดูและโหลดออกมาทำงานได้เลยโดยไม่ต้องเดินทางให้เสียเวลาและสามารถส่งงานได้ทันเวลา การตรวจงานหรือส่งงานให้กับผู้บริหารเราสามารถที่จะดำเนินการทำเป็นรูปของ blog spot เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ลดขั้นตอนการทำงานได้เป็นอย่างดี การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเราได้กรอกข้อมูลลงในเว็บไซด์โดยไม่ต้องเดินทางไปที่คุรุสภาให้เสียเวลา ถือได้ว่าเป็นการประยุกต์ใช้ในระบบสารสนเทศ การกรอกข้อมูลนักเรียนของครูประจำชั้นใช้วิธีการกรอกลงในโปรแกรมของโรงเรียนสามารถที่จะดึงมาใช้ได้ทันที
กรอบความคิด
1.จัดระบบข้อมูลสารสนเทศขององค์กรให้อยู่ในระบบสามารถเชื่อมโยงติดต่อในระบบ
เครือข่ายได้เป็นอย่างดี
2. ให้ความรู้กับบุคลากรเกิดองค์ความรู้เข้าใจถึงระบบสารสนเทศอย่างแท้จริงสามารถนำ
ความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริงและเกิดประสิทธิภาพกับตนเองประสิทธิผลกับงานและตัว
ผู้เรียนมากที่สุด
3. ส่งเสริมสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ให้กับบุคลากรเพื่อที่จะนำไปใช้การจัด
กิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นตอน
1. จัดการประชุมร่วมกันในการดำเนินการเกี่ยวกับระบบสารสนเทศในองค์กรให้ชัดเจน
2. จัดอบรมให้ความรู้ด้วยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในระบบสารสนเทศให้กับบุคลากรทุกคนและลงมือปฏิบัติจริง
3. ดำเนินการใช้ระบบสารสนเทศให้คลอบคลุมงานทั้ง 4 ด้าน
3.1 การบริหาร
3.2 งานวิชาการ
3.3 งานบุคลากร
3.4 งานงบประมาณและการวางแผน
4. ประเมินผลการดำเนินงานด้วยระบบสารสนเทศ
5. สรุปผลการดำเนินงาน

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำแผนแม่บทด้านไอซีที (ICT) ฉบับที่ 2 ของรัฐบาลไทยจงสังเคราะห์ความรู้จากแผนแม่บทมาเป็นคำอรรถาธิบายให้แจ้งชัด
ตอบ
เห็นด้วย กับแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 แผนที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมด้าน ไอซีที เนื่องจากว่าโลกในปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาไม่มีการหยุดนิ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีมากขึ้นการจัดทำแผนแม่บทด้านไอซีทีเป็นการกำหนดหน้าที่และความเหมาะสมให้กับกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนากำลังคนด้านไอซีทีและบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน
1. การพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
1.1 พัฒนาผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้มีทักษะและคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
2. การพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาชีพอื่นๆและบุคคลทั่วไป
2.1 ส่งเสริมให้มีการนำ ไอซีที มาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนในการศึกษาในระบบทุกระดับมากขึ้นแต่มุ่งเน้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสำคัญเน้นการพัฒนาความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาโดยใช้ ไอซีที เป็นเครื่องมือ
2.2 พัฒนาการเรียนรู้ ไอซีที นอกสถาบันการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ ไอซีที
2.3 พัฒนาการเรียนรู้ ไอซีที แก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุจัดทำและเผยแพร่อุปกรณ์ ไอซีทีเพื่ออำนวยความสะดวก สื่อการเรียนรู้ สำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆและใช้มาตรการต่างๆเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การบริหารจัดการระบบ ICT ระดับชาติอย่างมีธรรมาภิบาล (National ICT Governance)
มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและการกำกับดูแล กลไกและกระบวนการในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ให้มีธรรมาภิบาล โดยเน้นความเป็นเอกภาพ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีมาตรการ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารและการจัดการ ICT ระดับชาติ
2. ปรับปรุงกระบวนการจัดทำ/เสนองบประมาณ และกระบวนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้าน ICT ของรัฐ
3. พัฒนา และ/หรือปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลไกการบังคับใช้กฎหมาย/กฎระเบียบ เพื่อให้เอื้อต่อการใช้ ICT และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
4. ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลตัวชี้วัดสถานภาพดารพัฒนา ICT ของประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสาร ให้มีการกระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพทันกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยี เพื่อรองรับการการขยายตัวของความต้องการของผู้บริโภค สามารถให้บริการมัลติมีเดีย ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และบริการใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตสมัยใหม่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ อีกทั้งมุ่งเน้นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อทำให้สังคมมีความสงบสุข และประชาชนมีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยมีมาตรการที่สำคัญ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. ขยายประเภทบริการ เพิ่มพื้นที่ให้บริการ และปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงข่ายโทรคมนาคม
2. เร่งรัดการสร้างความมั่นคงของระบบสารสนเทศ (Information security)
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT เพื่อยกระดับการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน
4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศสำหรับบริการภาคสังคมที่สำคัญต่อความปลอดภัยสาธารณะและคุณภาพชีวิตของประชาชน
5. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงข่ายและทรัพยากร

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ (e-Governance)
มุ่งเน้นให้หน่วยงานของรัฐใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการ สามารถตอบสนองต่อการให้บริการที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โปร่งใส เป็นธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีมาตรการสำคัญประกอบด้วย
1. สร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบการกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติและมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐแบบบูรณาการ
2. ให้ทุกกระทรวงดำเนินการเพื่อพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐแบบบูรณาการ
3. สร้างความเข้มแข็งด้าน ICT แก่หน่วยงานของรัฐในภูมิภาคในระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ICT ไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมาภายในประเทศ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ให้มีความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีในระดับต้นน้ำเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกิดจากงานวิจัยสู่ผู้ประกอบการ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนท์ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ส่วนในอุตสาหกรรมอื่นที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบสมองกลฝังตัว หรือการออกแบบขั้นสูง) แบะอุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคม ในช่วงแผ่นที่จะเน้นเรื่องการวิจัยพัฒนามุ่งสู่ขีดความสามารถในระดับต้นน้ำ เพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศในระยะต่อไป โดยมาตรการที่สำคัญของยุทธศาสตร์นี้ประกอบด้วย
1. การสนับสนุนด้านเงินทุน/เงินช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่
2. การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ ICT ไทยสู่ระดับสากล
3. การสร้างโอกาสทางการตลาดและโอกาสในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการไทย
4. การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม ICT ทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การใช้ ICT เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมภาคการผลิตของประเทศให้เข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์จาก ICT เพื่อก้าวไปสู่การผลิตและการค้าสินค้าและบริการ ที่ใช้ฐานความรู้และนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Value Creation) และมูลค่าเพิ่มในประเทศ เพื่อพร้อมรองรับการแข่งขันในโลกการค้าเสรีในอนาคต โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการพัฒนาภาคการผลิตและบริการที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ได้แก่ ภาคการเกษตร การบริการสุขภาพ และการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก และวิสาหกิจชุมชน โดยมีมาตรการที่สำคัญประกอบด้วย
1. สร้างความตระหนักและพัฒนาขีดความสามารถด้าน ICT ของผู้ประกอบการ
2. เสริมสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
3. ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ในภาคการผลิตและบริการที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ
4. ยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน
5. ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ในมาตรการประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับองค์กรและประเทศอย่างยั่งยืน

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด จงอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นรูปธรรม
ตอบ
เห็นด้วย เนื่องจากในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสำคัญของการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ตัวอย่าง
1. การก้อปปี้เทปผีซีดีเถื่อนเป็นการละเมิดลิขสิทธ์ทรัพย์สินทางปัญญาทำให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของบริษัทห้างร้านที่ดำเนินการ จึงต้องมีกฎหมายควบคุมและมีบทลงโทษอย่างรุนแรง
2. การแอบถ่ายคลิปวีดิโอและมีการเผยแพร่อนาจาร ทำให้เกิดความเสื่อมเสียในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จึงต้องมีกฎหมายควบคุมและมีบทลงโทษ
3. การลักลอบขโมยข้อมูลจากหน่วยงานอื่น แล้วนำมาก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเอง ทำให้เกิดความเสียหายในด้านความมั่นคง และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จึงต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

นายวิรัช ผิวเกลี้ยง ป.บัณฑิต การบริหารการศึกษา รุ่น 8 เลขที่ 20

ข้อสอบวิชา การจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โครงงานธนาคารขยะรีไซเคิล

เนื่องจากในปัจจุบันประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกเสียสมดุลทางธรรมชาติ ส่งผลให้เกินปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านมลภาวะ ปัญหาด้านการทำมาหากิน ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านการศึกษา และปัญหาด้านการเมือง ถ้าทุก ๆ คนไม่ร่วมมือช่วยกันในการป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าว ในที่สุดก็จะทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ เพื่อเป็นการช่วยกันป้องกันและช่วยกันแก้ปัญหาด้านมลภาวะ ในการศึกษาครั้งนี้ คณะทำงานจึงได้จัดทำโครงการธนาคารขยะขึ้น

ปัญหา
1. ขยะในบริเวณโรงเรียนและชุมชนมีปริมาณมาก ทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนสกปรก
2. ขยะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
3. ขยะทำให้แหล่งน้ำในชุมชนสกปรก
4. ขยะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

วัตถุประสงค์
1. เพื่อนำขยะในบริเวณโรงเรียนและชุมชน มาบริหารจัดการให้ถูกวิธี
2. เพื่อให้โรงเรียนและชุมชนสะอาด สวยงาม
3. เพื่อแปลงขยะเป็นรายได้ให้กับนักเรียน
4. เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

การดำเนินงาน
1. จัดตั้งคณะทำงานธนาคารขยะ ประกอบด้วย
- ผู้จัดการ มีหน้าที่เป็นผู้นำในการวางแผนบริหารจัดการ
- คณะทำงานประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวน สร้างเครือข่ายในการจัดเก็บและแยกขยะ
- คณะทำงานฝ่ายรับฝากขยะ มีหน้าที่รับฝากขยะที่แยกแล้วให้เป็นหมวดหมู่และจัดทำบัญชีรับฝาก
- ฝ่ายตลาด มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับผู้ซื้อให้มารับซื้อขยะ
- ฝ่ายจัดการผลประโยชน์ มีหน้าที่จัดแบ่งผลประโยชน์ให้กับสมาชิก โดยแบ่งเป็นสัดส่วนดังนี้ ให้สมาชิกผู้นำฝาก 70% ให้คณะทำงานของธนาคารขยะ 10% และเก็บไว้พัฒนากิจการอีก 20%
2. วางแผนการดำเนินงาน
- จัดเตรียมสถานที่ทำงานของธนาคารขยะ
- จัดเตรียมสถานที่และภาชนะในการแยกจัดเก็บขยะ
- ดำเนินการเปิดรับฝากขยะ ทุกวันเปิดเรียน
- จัดจำหน่ายขยะที่รับฝากไว้กับผู้มารับซื้อ
- บริการเบิกจ่ายเงินให้กับสมาชิก
3. ประเมินผลสรุปการดำเนินงานเสนอผู้อำนวยการโรงเรียน ผ่านครูที่ปรึกษา ทุกวันเปิดเรียนแรกของเดือน
4. พัฒนาปรับปรุงงานเพื่อดำเนินการในเดือนต่อไป

งบประมาณ
1. จัดเตรียมสถานที่ทำงานของธนาคารขยะ 3,000 บาท
2. จัดเตรียมภาชนะและสถานที่แยกขยะ 10,000 บาท
3. ประชาสัมพันธ์สร้างเครือข่ายเก็บแยกขยะ 2,000 บาท

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ขยะในบริเวณโรงเรียนและชุมชนลดลง ทำให้สิ่งแวดล้อมสะอาด สวยงามขึ้น
2. ขยะได้รับการบริหารจัดการที่ถูกวิธี
3. สมาชิกมีรายได้จากการขายขยะ
4. ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ภาพกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โครงงานธนาคารขยะรีไซเคิล
ภาพคณะทำงานของโครงงานธนาคารขยะรีไซเคิล

ภาพกิจกรรมการคัดแยกขยะรีไซเคิล






ผังการปฏิบัติงานธนาคารขยะรีไซเคิล